วิศวกรรมโยธาเจ๋ง ประดิษฐ์เครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของดินแบบอัตโนมัติ
การทดสอบการรับน้ำหนักของดิน มีความจำเป็นในการก่อสร้างฐานรากแผ่นแบบไม่ใช้เสาเข็มหรืองานบดอัดวัสดุดินในการก่อสร้างถนนเพื่อตรวจสอบความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกตามที่ได้ออกแบบไว้ อันเป็นไปตามมาตรฐานการทดสอบตลอดจนมาตรฐานกรมโยธาธิการ โดยเป็นการวัดอัตราการทรุดตัวเนื่องจากน้ำหนักบรรทุกที่เพิ่มขึ้นจนถึงน้ำหนักสูงสุดตามที่ได้ออกกแบบไว้ แต่ในการทดสอบยังมีความเสี่ยงเนื่องจากต้องทำการติดตั้งเครื่องมือทดสอบในหลุมทดสอบแล้วต้องทำการเพิ่มน้ำหนัก การอ่านและจดบันทึกค่าการทรุดตัวจากเครื่องมือวัดที่ถ่ายน้ำหนักบรรทุกจากด้านบนซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรกลหนัก หรือแคร่บรรทุกน้ำหนัก จึงเกิดความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากการพังทลายของดินหรือการพังทลายของแคร่บรรทุกน้ำหนัก
อาจารย์ชนะรบ วิชาลัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงประดิษฐ์เครื่องมือทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของดินแบบอัตโนมัติขึ้น โดยกล่าวไว้ว่า สิ่งประดิษฐ์นี้ เป็นเครื่องมือทดสอบที่สามารถทำการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกและอ่านค่าการทรุดตัวจากภายนอกหลุมทดสอบ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งเครื่องมือนี้ยังสามารถบันทึกค่าการทรุดตัว-น้ำหนักบรรทุกในตัวได้ และยังสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ทผ่านบลูทูธ โดยสามารถแสดงผลผ่านทางหน้าจอและบันทึกผลใน Google Sheet สามารถลดภาระในการทำงานของผู้ทำการทดสอบ และเพิ่มความปลอดภัยในการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของดิน เป็นนวัตกรรมเครื่องมือการทดสอบที่ทันสมัยมีหน่วยความจำในตัวเครื่อง สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบบลูทูธ มีคุณภาพสูงที่ยังไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด และมีราคาถูกกว่าเครื่องมือทดสอบแบบปกติที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวคว้ารางวัล Silver Prize จาก Korea Invention Promotion Association และรางวัล Special Award for Innovation จาก King Abdulaziz University ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน Seoul International Invention Fair 2019 (SIIF 2019) ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ และเครื่องมืออยู่ในระหว่างขั้นตอนการจดทรัพย์สินทางปัญญา