“หน่อกะลา” พืชที่เป็นมากกว่าที่คุณคิด

“หน่อกะลา” พืชที่เป็นมากกว่าที่คุณคิด



เกาะเกร็ดถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 หลังจากประสบวิกฤตการณ์น้ำท่วม สภาพความเป็นอยู่ของประชากรภายในเกาะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รูปแบบการใช้ประโยชน์ของพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ รูปแบบการประกอบอาชีพของประชากรภายในเกาะ ตลอดจนรูปแบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากเดิมที่เป็นลักษณะของการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวมอญ กลายเป็นการท่องเที่ยวตลาดขายสินค้าทั่วไป ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่จากประชากรแฝงเกินกว่าร้อยละ 80 ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของประชากรภายในพื้นที่เกาะเกร็ด ถึงแม้ว่าสภาวะการณ์ต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป แต่มีพืชท้องถิ่นที่ยังคงเอกลักษณ์และยังคงสภาพอยู่ที่เกาะเกร็ดได้ นั่นคือ ต้นหน่อกะลา หรือ หน่อกะลา

หน่อกะลาเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกับขิง ข่า มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Alpinia nigra Burrt. (Noh Kala) ทั้งนี้ชื่อ “หน่อกะลา” ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นชื่อเรียกที่คนในพื้นที่เกาะเกร็ดใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้เท่านั้น เนื้อในแง่งสีขาว กลิ่นอ่อน รสซ่าเล็กน้อย ส่วนลำต้นเทียมที่งอกขึ้นมาเหนือพื้นดินนั้น จะเป็นกาบของใบซึ่งจะมีการซ้อนกันอยู่ ใบเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง ด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นกลางใบขนาดใหญ่ ดอกมีลักษณะเป็นช่อแยกแขนงที่ยอดดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว มีขนบาง ๆ กลิ่นหอมอ่อน มีแถบสีชมพูเข้มตรงกลางหน่อกะลาในพื้นที่เกาะเกร็ดยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก ส่วนมากเข้าใจว่าคือหน่อของต้นมะพร้าว เอามาใส่ในทอดมัน แทนถั่วฝักยาว แต่ไม่มีใครรู้ว่าต้นจริง ๆ นั้น เป็นอย่างไร เพื่อเป็นการเผยแพร่คุณประโยชน์ให้ประชาชนนอกพื้นที่ได้รู้จัก ดร.สุธิษา เละเซ็น นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับชาวบ้านพื้นที่เกาะเกร็ดจึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ชาที่ทำจากต้นหน่อกะลาอบแห้ง และคั่ว เพื่อให้ได้กลิ่นและรสชาติที่หอมคล้ายชาธรรมชาติ ชาหน่อกะลาที่ผลิตได้จากการอบแห้ง และการคั่ว มีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวมและเปอร์เซ็นต์การต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาหน่อกะลาสด ทั้งยังสามารถจำหน่ายเป็นของฝากจากเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากผลิตภัณฑ์ชาหน่อกะลาแล้ว อาจารย์เดชา โฉมงามดี นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ยังนำเปลือกหน่อกะลาที่เหลือทิ้งซึ่งมีองค์ประกอบของเส้นใยอยู่ในปริมาณมากถึงร้อยละ 40 ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นเอกลักษณ์โดยการผลิตจากพืชพื้นถิ่น จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้ได้รู้จักพืชท้องถิ่นของชาวเกาะเกร็ดมากยิ่งขึ้น

 







654 ครั้ง

Address
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
อาคารบูรณมงคล (อาคาร 32) ชั้น 8
เลขที่ 60 หมู่ 3 ถ.สายเอเซีย
(กรุงเทพฯ-นครสวรรค์) ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
035-709-097 หรือ 097-270-8866

ช่องทางการติดต่อ
rdi@rmutsb.ac.th
สถาบันวิจัยและพัฒนา มทรส.
rdi.rmutsb
rdi.rmutsb
LINE ID : @404unano

Copyright ©2023 สถาบันวิจัยและพัฒนา | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ