การละเมิดลิขสิทธิ์ คืออะไร❓
การละเมิดลิขสิทธิ์ คืออะไร❓
การกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ คือ การกระทำที่กระทบต่อสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต
ทำแบบไหนจึงจะเรียกว่าละเมิดลิขสิทธิ์
1) การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง หมายถึง การกระทำที่ใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือการกระทำใดๆ ที่ละเมิดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ในลักษณะที่ชัดเจน ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อผลงานของเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยแบ่งองค์ประกอบออกเป็นดังนี้
- เป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
- การทำซ้ำ หรือดัดแปลง
- การนำงานอันมีลิขสิทธิ์เผยแพร่ต่อสาธารชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ์
การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงสามารถเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆได้ดังนี้
1. การคัดลอกหรือทำสำเนาผลงาน การทำสำเนาผลงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น การคัดลอกหนังสือ เพลง ภาพถ่าย ซอฟต์แวร์ หรือภาพยนตร์ เพื่อแจกจ่ายหรือใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต
2. การเผยแพร่ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ตหรือผ่านสื่ออื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การอัปโหลดไฟล์หรือภาพยนตร์ในเว็บไซต์ที่สามารถดาวน์โหลดได้
3. การแจกจ่ายผลงานหรือขายผลงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น เพลง ซอฟต์แวร์ หรือหนังสือ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
4.การใช้ผลงานในเชิงพาณิชย์ เช่น การนำเพลงหรือภาพยนตร์ไปใช้ในการโฆษณาหรือแสดง ในธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต
2) การละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม หมายถึง การกระทำที่ไม่ใช่การใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์โดยตรงแต่ยังมีการสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการกระทำที่ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้อื่น
- เป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
- ผู้กระทำรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น
- มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- การขาย มีไว้เพื่อขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ เสนอให้เช่าซื้อ
- เผยแพร่ต่อสาธารณชน
- แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์
- การนำหรือสั่งงานละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาในราชอาณาจักร
- การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อหากำไร
การละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อมสามารถเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆได้ดังนี้
1. การเผยแพร่หรือสนับสนุนการกระทำผิด เช่น การเผจแพร่ลิงก์ดาวน์โหลดหรือการส่งเสริมเว็บไซต์ที่มีการแชร์หรือเผยแพร่ผลงานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต
2. การให้บริการที่สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การให้บริการโฮสต์เว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ได้แก่ เว็บไซต์ให้บริการดาวน์โหลดเพลงหรือภาพยนตร์ผิดกฎหมาย หรือการขายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ซอฟต์แวร์ปลอม หรือสินค้าปลอม
3. การช่วยเหลือในการจัดจำหน่วย เช่น การจัดหน่ายสินค้าปลอม หรือการช่วยให้สินค้า ที่ละเมิดลิขสิทธิ์สามารถเผยแพร่ไปยังผู้บริโภค เช่น การนำเข้าสินค้าเลียนแบบที่ละเมิดลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ
4. การให้คำแนะนำหรือการสนับสนุนให้คนอื่นๆ ใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น แนะนำวิธีดาวน์โหลดซอฟต์แวร์หรือเพลงจากแหล่งที่ไม่ถูกต้อง
งานอันมีลิขสิทธิ์ มี 9 ประเภท ได้แก่
1) งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ บทความ บทกลอน โปรแกรมคอมพิวเตอร์
2) นาฏกรรม เช่น ท่าเต้น ท่ารำ ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว
3) ศิลปกรรม เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย
4) ดนตรีกรรม เช่น ทำนองเพลง หรือเนื้อร้องและทำนองเพลง
5) โสตทัศน์วัสดุ เช่น วีซีดีคาราโอเกะ
6) ภาพยนตร์
7) สิ่งบันทึกเสียง เช่น ซีดีเพลง
8) งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการโทรทัศน์
9) งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์หรือแผนกศิลปะ เช่น การเพ้นท์ศิลปะบนร่างกาย
การละเมิดลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา
การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโทษทางแพ่งและอาญา ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย โดยโทษที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้
1. โทษทางแพ่ง
- ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
- ศาลสามารถสั่งให้ผู้ละเมิดหยุดการกระทำที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือยกเลิกการเผยแพร่ผลงานที่ละเมิด
2. โทษทางอาญา
- ละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท แต่ถ้าเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 180,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท แต่ถ้าเป็นการกระทำเพื่อการค้า ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้เขียน นางสาวสโรชา คำหอม
นิติกร
งาน Enterprise Linkage Center
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ข้อมูลอ้างอิง กรมทรัพย์สินทางปัญญา