ลิขสิทธิ์คืออะไร❓ไขข้อสงสัยให้เข้าใจง่ายแบบเพื่อนเล่าให้ฟัง
ลิขสิทธิ์คืออะไร? ไขข้อสงสัยให้เข้าใจง่ายแบบเพื่อนเล่าให้ฟัง
ลิขสิทธิ์คืออะไร? ไขข้อสงสัยให้เข้าใจง่ายแบบเพื่อนเล่าให้ฟัง
ในยุคที่การสร้างสรรค์ผลงานเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว ลิขสิทธิ์ (Copyright) กลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็น ไม่ว่าคุณจะเป็น นักประดิษฐ์ นักวิจัย นักเขียน ศิลปิน หรือใครก็ตามที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาได้ ลิขสิทธิ์คือกุญแจสำคัญในการปกป้องผลงานของคุณ มาทำความรู้จักกับลิขสิทธิ์กัน!
ลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีตั้งแต่ที่คุณได้สร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้นคุณจึงควรที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของคุณโดยการเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่แสดงว่าคุณสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิหรือความเป็นเจ้าของ ลิขสิทธิ์เปรียบเสมือนโล่ปกป้องไอเดียของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงาน ด้วยกฎหมาย ที่มอบสิทธิให้ผู้สร้างสรรค์สามารถควบคุมการใช้ผลงานของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการ ทำซ้ำ เผยแพร่ ดัดแปลง หรือโฆษณา ความสำคัญของลิขสิทธิ์ไม่เพียงแต่ปกป้องเจ้าของผลงานจากการถูกลอกเลียนแบบ แต่ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้อีกด้วย
ผลงานที่ได้รับความคุ้มครอง
วรรณกรรม หมายถึง งานที่เขียนหรือแต่งขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และยังรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์อีกด้วย โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน หรือเพื่อให้ได้รับหรือแสดงผล ซึ่งครอบคลุมถึงภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมดด้วย
นาฏกรรม หมายถึง งานที่เกี่ยวข้องกับการแสดง เช่น การรำ การเต้น การทำท่าทาง หรือการแสดงแบบมีเรื่องราว รวมถึงการแสดงใบ้ด้วย
ศิลปกรรม แบ่งออกเป็น 7 ลักษณะ ดังนี้
1. งานจิตรกรรม คือ งานที่สร้างรูปทรงโดยใช้เส้น แสง สี หรือวัสดุอื่นๆ ลงบนพื้นผิว
2. งานประติมากรรม คือ งานที่สร้างรูปทรงในลักษณะที่จับต้องได้และมีปริมาตร
3. งานภาพพิมพ์ คือ งานสร้างภาพด้วยกระบวนการพิมพ์ ซึ่งรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย
4. งานสถาปัตยกรรม คือ งานออกแบบอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และการตกแต่งภายใน-ภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง และรวมถึงหุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
5. งานภาพถ่าย คือ การสร้างภาพด้วยการใช้เครื่องมือบันทึกภาพซึ่งทำให้เกิดภาพขึ้น เช่น กล้องถ่ายรูป และกระบวนการล้างฟิล์มหรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมือหรือวิธีอื่น
6. งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ เช่น แผนที่หรือภาพร่างสามมิติ
7. งานศิลปประยุกต์ คือ งานที่นำเอางานตาม ลักษณะที่ 1-6 มาใช้ประโยชน์ เช่น การตกแต่ง การใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ให้รวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
ดนตรีกรรม หมายถึง ดนตรีกรรมคือผลงานเพลงที่สร้างขึ้นสำหรับการบรรเลงหรือขับร้อง อาจมีทั้งทำนองและคำร้อง หรือมีเพียงทำนองอย่างเดียว รวมถึงโน้ตเพลงและการเรียบเรียงเสียงประสาน
โสตทัศนวัสดุ หมายถึง ผลงานที่ประกอบด้วยลำดับภาพที่สามารถเล่นซ้ำได้ เช่น วิดีโอ พร้อมเสียงประกอบ (ถ้ามี) โดยใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม
ภาพยนตร์ หมายถึง โสตทัศนวัสดุชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยลำดับภาพต่อเนื่องกันหรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น พร้อมเสียงประกอบ (ถ้ามี)
สิ่งบันทึกเสียง หมายถึง งานที่บันทึกเสียงดนตรี เสียงแสดง หรือเสียงอื่นๆ ลงบนวัสดุที่สามารถเล่นซ้ำได้ ยกเว้นเสียงประกอบภาพยนตร์หรือโสตทัศนวัสดุอื่น
งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หมายถึง ผลงานที่เผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านวิทยุ โทรทัศน์ หรือวิธีอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน
และลิขสิทธิ์ยังรวมถึง งานในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ผลงานที่กล่าวถึงทั้งหมดข้างต้นสามารถจัดอยู่ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ ขึ้นอยู่กับลักษณะและเนื้อหาของผลงานนั้นๆ
สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์
ใครสามารถเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้บ้าง? สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. ผู้สร้างสรรค์ด้วยความคิดริเริ่มของตนเอง โดยไม่ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น และรวมถึงผู้สร้างสรรค์งานร่วมกันด้วย
2. ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงาน หรือลูกจ้าง (เว้นแต่ทำหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น)
3. ผู้ว่าจ้างในกรณีว่าจ้างให้บุคคลอื่นสร้างสรรค์งาน (เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น)
4. ผู้ดัดแปลง รวบรวม หรือประกอบเข้ากัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
5. กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น โดยการจ้างหรือตามคำสั่ง หรือในความควบคุมดูแลของตน
6. ผู้รับโอนลิขสิทธิ์
ส่วนเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวสามารถใช้สิทธิจากผลงานของตนได้ ดังนี้
1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง
2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
3. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง
4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามข้อ 1. 2. หรือ 3. โดยจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่กำหนดก็ได้ที่ไม่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม
การโอนลิขสิทธิ์
อยากให้สิทธิผู้อื่นก็โอนให้ได้! เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถโอนงานลิขสิทธิ์ของตนเองให้แก่บุคคลอื่นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ และสามารถโอนสิทธิโดยกำหนดระยะเวลาหรือตลอดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์แต่ต้องมีลายลักษณ์อักษรและข้อตกลงที่ชัดเจน
อายุการคุ้มครอง
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
แม้ลิขสิทธิ์จะช่วยปกป้องผลงานของคุณ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการ เช่น การใช้เพื่อการศึกษา วิจัย หรือวิจารณ์ เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม เพราะการใช้งานลักษณะนี้จะเข้าข่าย "การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม" (Fair Use)
ลิขสิทธิ์ไม่เพียงแต่ปกป้องผู้สร้างสรรค์ แต่ยังสนับสนุนให้เกิดผลงานใหม่ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ ลองคิดดูว่าหากโลกนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เราอาจจะไม่ได้เห็นผลงานที่หลากหลายและยอดเยี่ยมอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันแล้วก็ได้
ผู้เขียน นางสาวพิชญาดา วรวาท
หน่วยทรัพย์สินทางปัญญา (TLO)
งาน Enterprise Linkage Center
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ข้อมูล: กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์, กรมทรัพย์สินทางปัญญา