แนวทางการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

งานบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
แนวทางการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น
 ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

“ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ถือเป็นความภูมิใจในรากเหง้าแห่งปัญญา ในการประยุกต์ใช้ทักษะของคนในท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมของชุมชน อย่างไรก็ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ฝังลึกอยู่ในแต่ละชุมชน ยังขาดการนำองค์ความรู้และแนวคิดในการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาช่วยในการเสริมสร้างทำให้ภูมิปัญญาดังกล่าวเกิดการพัฒนา ส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนความมั่นคง และความสุขให้กับคนในชุมชน ทั้งนี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมเอกลักษณ์จำเพาะถิ่นฐานให้เป็นแบบอย่างของภูมิปัญญาท้องถิ่น และเกิดกระบวนการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นนำมาซึ่งความภูมิใจ  ของคนในชุมชน

งานบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในบทบาทภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมงานบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มชุมชน เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมองค์ความรู้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศโดยผ่าน โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในปี 2560 จากการร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “ออมสิน-ธรรมศาสตร์โมเดล” และในปี 2561 มีสถาบันอุดมศึกษาสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มเป็น 16 แห่ง ร่วมกันพัฒนา 105 กลุ่มชุมชน และเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2562 มี 56 สถาบันอุดมศึกษา ร่วมกันพัฒนา 411 กลุ่มชุมชน ปี 2563 - 2564 ที่ได้ร่วมกับ 64 สถาบันอุดมศึกษา ร่วมกันพัฒนา 470 กลุ่มชุมชน ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 ได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 65 แห่ง ร่วมกันพัฒนา 335 กลุ่มชุมชน ในปี 2566 ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา
67 แห่ง ร่วมกันพัฒนา 345 กลุ่มชุมชน และปัจจุบันในปี 2567 ได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่ง ร่วมกันพัฒนา 342 กลุ่มชุมชน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก การสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มชุมชนที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมสมัยใหม่ของสถาบันอุดมศึกษามาพัฒนายกระดับคุณภาพภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่มสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยการร่วมเรียน ร่วมรู้ และร่วมทำในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ด้านการจัดบัญชีต้นทุนสินค้า ด้านการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงในอาชีพ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการสร้างวินัยทางการเงินให้กับชุมชน ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง มั่นคง และเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนิสิตนักศึกษาได้ตระหนัก และรู้จักการรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน มองเห็นถึงประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งมีจิตสำนึกในการรักประเทศชาติและถิ่นฐานบ้านเกิด

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชุมชน ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน / กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP / กลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ / กลุ่มท่องเที่ยวชุมชน / กลุ่มอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือกลุ่มอาชีพต่างๆ ในชุมชนทั้งด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
  2. พัฒนาด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถเข้าสู่ตลาดการค้า
  3. เพื่อสร้างการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ภาพที่ดีระหว่างกลุ่มชุมชนและ ธนาคารออมสิน ตลอดจนการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
  4. เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม การทำงานต่อยอดองค์ความรู้ปัญญาท้องถิ่น ที่จะเป็นแนวทางในการก่อเกิดประสบการณ์ด้านการพัฒนาศักยภาพตัวเองเมื่อออกสู่ตลาดแรงงานอันนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของรากฐานสังคมจากพื้นฐานความเข้าใจของคนรุ่นใหม่

ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการ

ประเมินผลสำเร็จของโครงการทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ และบริการ แก่กลุ่มชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างโอกาสทางการตลาด และการแข่งขัน ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

เชิงปริมาณ  กลุ่มชุมชนสามารถลดรายจ่ายหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้า/บริการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ก่อนเสร็จสิ้นโครงการ

เชิงคุณภาพ ประกอบด้วย 3 ด้าน

ด้านเศรษฐกิจเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชนเพิ่มมากขึ้นรวมถึงสมาชิกมีการจดบันทึกบัญชีรับ – จ่าย บัญชีต้นทุนของกลุ่ม มีผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้น/ปริมาณการขายเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น/ลดต้นทุน
ด้านสังคมและชุมชน 
การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การจัดสวัสดิการเพื่อประโยชน์ชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านความยั่งยืน 
ชุมชนเกิดการเรียนรู้มีความเข้าใจ ตระหนักในความสำคัญและสามารถนำไปคิดต่อยอดองค์ความรู้เองได้

ประโยน์ที่ได้รับ 

กลุ่มชุมชน : สามารถพัฒนามูลค่าของผลิตผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ และบริการแก่กลุ่มชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างโอกาสทางการตลาด และการแข่งขัน ส่งผล    ต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนรวมถึงสามารถฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการโดยผสมผสานภูมิปัญญาในท้องถิ่นกับความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
สถาบันอุดมศึกษา : เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์เป็นรูปธรรมที่สามารถวัดและประเมินผลได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสามารถพัฒนาองค์ความรู้เป็นหลักการ และเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ
นักศึกษา : ได้รับความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถฝึกทักษะ การเป็นผู้ประกอบการ โดยมีโอกาสพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเองได้
ธนาคารออมสิน : ได้รับความรู้ความเข้าใจในบริบทของธุรกิจชุมชนที่สามารถพัฒนาธุรกิจของธนาคารให้ตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ทำให้ลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น

----------------------------------

งานบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ







75 ครั้ง

Address
สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
อาคารบูรณมงคล (อาคาร 32) ชั้น 8
เลขที่ 60 หมู่ 3 ถ.สายเอเซีย
(กรุงเทพฯ-นครสวรรค์) ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา
จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
035-709-097 หรือ 097-270-8866

ช่องทางการติดต่อ
rdi@rmutsb.ac.th
สถาบันวิจัยและพัฒนา มทรส.
rdi.rmutsb
rdi.rmutsb
LINE ID : @404unano

Copyright ©2023 สถาบันวิจัยและพัฒนา | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ