1111

 

 

  ฐานยึดจีโอโฟนแบบเคลื่อนที่ได้สำหรับงานสำรวจ
และทดสอบด้วยคลื่นสั่นสะเทือน

        ในการสำรวจและทดสอบแบบไม่ทำลายด้วยเทคนิคการตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนจำเป็นที่จะต้องยึดฝังเพื่อติดตั้งจีโอโฟน (Geophone) อันเป็นอุปกรณ์รับคลื่นสั่นสะเทือนลงบนพื้นดิน พื้นถนน พื้นผิวคอนกรีต หรือวัสดุอื่นใด ก่อนที่จะทำการตรวจวัด  ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องใช้จีโอโฟน จำนวน อย่างน้อย 24 ตัว ในการทดสอบ และจีโอโฟนเหล่านี้จะต้องทำการย้ายจุดติดตั้งไปเรื่อย ๆ ตามแนวการทดสอบ ซึ่งจะพบได้ว่า ในการทดสอบจำเป็นที่จะต้องทำการเจาะยึดฝังจีโอโฟนจำนวนมาก  ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการทดสอบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเสียหายให้กับพื้นผิวที่ทำการทดสอบ
        ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิคการทดสอบด้วยคลื่นสั่นสะเทือน ซึ่งเป็นคลื่นกลเพื่อทดสอบหาค่าคุณสมบัติทางกลของวัสดุหรือโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยเฉพาะคันทางหลวง คันทางรถไฟซึ่งมีระยะทางในการทดสอบที่ยาว การเจาะเพื่อยึดฝังจีโอโฟนจึงเป็นภาระหนักและไม่เหมาะสม อีกทั้งฐานยึดจีโอโฟนแบบเคลื่อนที่ได้ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน เป็นฐานที่ไม่มีเสถียรภาพและไม่เหมาะกับพื้นผิวที่ขรุขระ

        รศ.ดร.ณรงค์ชัย  วิวัฒนาช่าง  และทีมงาน  จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์   จึงประดิษฐ์ฐานยึดจีโอโฟนแบบเคลื่อนที่สำหรับงานสำรวจและทดสอบด้วยคลื่นสั่นสะเทือน     ซึ่งเป็นนวัตกรรมของการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนบนบก  โดยจำลองการใช้งานของการสำรวจคลื่นไหวสะเทือนในทะเลที่ใช้เรือลากจูงอันมีความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน โดยเมื่อทำการประยุกต์ใช้สิ่งประดิษฐ์นี้กับชุดสายเคเบิ้ลที่ติดตั้งลากจูงโดยรถยนต์แล้ว สามารถทำให้การสำรวจบนบกทำได้รวดเร็วและคล่องตัว ดังเช่น การสำรวจในทะเล ประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านของแรงงาน อีกทั้งให้ผลการสำรวจไม่แตกต่างจากวิธีการเดิมที่ต้องทำการเจาะหรือติดตั้งจีโอโฟนลงบนพื้นดินแข็ง
        จากสิ่งประดิษฐ์นี้เมื่อได้ทำการทดลองใช้งานในการทดสอบคันทางหลวง คันทางรถไฟที่ซึ่งเป็นพื้นผิวแข็งและขรุขระ พบว่าอุปกรณ์ฐานยึดที่ได้พัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้ในการทดสอบเพื่อตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี และสามารถรักษาเสถียรภาพระหว่างการลากจูงได้เป็นอย่างดีใน ตลอดจนให้ผลการตรวจวัดที่ใกล้เคียงกับการเจาะเพื่อยึดฝังจีโอโฟนลงบนพื้นผิวที่ทำการตรวจวัดโดยตรง


หัวหน้าโครงการนักวิจัย : รศ.ดร.ณรงค์ชัย วิวัฒนาช่าง และ อ.ชนะรบ วิชาลัย
ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

สถาบันวิจัยและพัฒนา
งานบริหารงานวิจัย
Tel. 097 270 8866






 








 
     
         
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ



สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
60 หมู่ 3 ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000


  097 270 8866
  rdi@rmutsb.ac.th
  www.facebook.com/rdi.rmutsb